Photo Photo
Home

 

 

Q : แผนปฏิบัติงาน กับ แผนปฏิบัติราชการ แตกต่างกันอย่างไร ?

A : แผนปฏิบัติงาน คือ งานประจำที่ทุกหน่วยงานดำเนินการอยู่เป็นประจำ เช่น คณะจะต้องดำเนินการตามภารกิจ คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ส่วนแผนปฏิบัติราชการ เป็นแนวทางในการดำเนินงานเชิงรุกให้บรรลุภารกิจของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในระดับสากล (World Class University)

 

Q : ตัวชี้วัด คืออะไร ?

A : ตัวชี้วัด หรือ Key Performance Indicators เป็นดัชนีชี้วัด หรือหน่วยวัดความสำเร็จของการปฏิบัติงานที่ถูกกำหนดขึ้น โดยเป็นหน่วยวัดที่ควรมีผลเป็นตัวเลขที่นับได้จริง และต้องสื่อถึงเป้าหมายในการปฏิบัติงานสำคัญ ทั้งนี้เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนด ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ

 

Q : เป้าหมาย คืออะไร ?

A : เป้าหมาย หมายถึง การกำหนดสิ่งที่ต้องการในอนาคต ซึ่งองค์การจะต้องพยายามให้เกิดขึ้น หรือหมายถึง เป็นการกำหนดภารกิจในรูปของผลลัพธ์สำคัญที่ต้องการ เป้าหมายมีความเฉพาะเจาะจงน้อยกว่าวัตถุประสงค์(Objectives) วัตถุประสงค์จะกำหนดขึ้น หลังจากกำหนดเป้าหมายแล้ว เป้าหมายเชิงกลยุทธ์จะช่วยผู้บริหารให้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่องค์การต้องบรรลุผล

 

Q : กำหนดตัวเลขเป้าหมายให้น้อยไว้ก่อนเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายๆ ดีหรือไม่

A : กำหนดตัวเลขเป้าหมายให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นส่งผลเสียต่อองค์กรมาก เนื่องจากทำให้คนในองค์กรไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน และทำให้การแยกแยะผู้ปฏิบัติงานดีเด่น กับผู้ปฏิบัติงานปกติเป็นไปยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายที่ไม่สูงจนเกินไปนัก จะช่วยลดความกดดันให้ผู้ปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้จะเป็นข้อตกลงระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

 

Q : ช่วงปีงบประมาณคือช่วงเวลาใด

A: ปีงบประมาณ เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมของปีไปจนถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป เช่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2556

 

Q : ประเภทของงบรายจ่ายประกอบด้วยอะไรบ้าง

A:

  • งบรายจ่าย หมายถึง กลุ่มวัตถุประสงค์ของรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่ายงบประมาณ สำหรับแต่ละส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จำแนกออกเป็น 5 ประเภทรายจ่าย ได้แก่
  1. งบบุคลากร
  2. งบดำเนินงาน
  3. งบลงทุน
  4. งบเงินอุดหนุน
  5. งบรายจ่ายอื่น
  • งบบุคลากร หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว
  • งบดำเนินงาน หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานประจำ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว
  • งบลงทุน หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการลงทุน ได้แก่ รายจ่ายในลักษณะค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายจากงบรายจ่ายอื่นใดในลักษณะรายจ่ายดังกล่าว
  • งบเงินอุดหนุน หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเป็นค่าบำรุงหรือเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่ราชการส่วนกลางตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาตำบล องค์การระหว่างประเทศ นิติบุคคล เอกชนหรือกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ รวมถึงเงินอุดหนุนงบพระมหากษัตริย์ เงินอุดหนุนการศาสนา และรายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่ายนี้
  • งบรายจ่ายอื่น หมายถึง รายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะประเภทงบรายจ่ายใดงบรายจ่ายหนึ่ง หรือรายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่ายนี้

 

Q : งบประมาณรายจ่าย คือ งบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่

A: ใช่  

งบประมาณแผ่นดิน คือ งบประมาณของรัฐบาลที่จัดหารายรับให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในรอบระยะเวลาหนึ่งปีเรียกว่า งบประมาณแผ่นดินประจำปีซึ่งสถาบันจะต้องจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาเมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้วจึงตราออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีเพื่อใช้บังคับต่อไปแต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น งบประมาณรายจ่าย ประมาณปีงบประมาณ พ.ศ.................

 

Q : วัสดุและครุภัณฑ์แตกต่างกันอย่างไร

A:

  • ค่าวัสดุ หมายถึง รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของโดยสภาพเมื่อใช้แล้วย่อมสิ้นเปลือง หมดไป แปรสภาพ หรือไม่คงสภาพเดิม และรวมถึง
  • รายจ่ายเพื่อจัดหาสิ่งของลักษณะคงทนถาวรที่มีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดไม่เกิน 5,000 บาท

  • รายจ่ายเพื่อจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดไม่เกิน 20,000 บาท 

ทั้งนี้  หน่วยงานสามารถขอตั้งงบประมาณในรายการสำคัญ ๆ เช่น วัสดุการศึกษา  วัสดุสำนักงาน  วัสดุคอมพิวเตอร์  ฯลฯ

  • ค่าครุภัณฑ์ หมายถึง รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของโดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวรที่มีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดเกินกว่า 5,000 บาท หรือรายจ่ายเพื่อจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีราคาต่อหน่วยหรือต่อชุดเกินกว่า 20,000 บาท 

 

Q :รายการค่าอาหารทำการนอกเวลามีหลักเกณฑ์การคำนวณอย่างไรในการขอตั้งงบประมาณรายจ่าย

A:

  • วันธรรมดา ชั่วโมงละ 50 บาท ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง (200 บาท/วัน)
  • วันหยุดราชการ (เสาร์ - อาทิตย์) ชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง (420 บาท/วัน)

 

Q : ระบบประเมินการเรียนการสอนของอาจารย์ (โดยนักศึกษา) คืออะไรและเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

A: ระบบประเมินการเรียนการสอนของอาจารย์ (โดยนักศึกษา) เป็นระบบที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ทุกรายวิชา ทุกภาคการศึกษา โดยผลการประเมินความพึงพอใจแต่ละรายวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 3.51 จากคะแนนเต็ม 5 (ตัวบ่งชี้ที่ 2.6 การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา) ซึ่งระบบประเมินดังกล่าวนี้ อาศัยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่กองบริการการศึกษา เจ้าหน้าที่กองแผนงาน และเจ้าหน้าที่คณะ (นักวิชาการศึกษา) ในการดำเนินงาน

 

ผลการประเมินการเรียนการสอนของอาจารย์(โดยนักศึกษา) นั้นนำไปใช้ทำอะไร

  1. เพื่อตอบตัวบ่งชี้ที่ 2.6 ของการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
  2. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในงานบริหารทรัพยากรบุคคล(อาจารย์)

 

Q : งานสำรวจที่กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา กองแผนงานจัดทำขึ้นทุกปีมีอะไรบ้าง

A :

  1. การสำรวจบัณฑิตปริญญาโท และปริญญาเอกที่ได้งานทำหรือประกอบอาชีพอิสระภายในระยะเวลา 1 ปี ช่วงระยะเวลาดำเนินงาน เดือน พฤศจิกายน - มีนาคม ของทุกปี
  2. การสำรวจความพึงพอใจของนักศึกษาต่อคุณภาพการให้บริการของสถาบัน ช่วงระยะเวลาดำเนินงาน เดือน มกราคม - มีนาคม ของทุกปี
  3. การสำรวจความพึงพอใจของนายจ้าง ผู้ประกอบการและผู้ใช้บัณฑิต ช่วงระยะเวลาดำเนินงาน เดือน เมษายน - สิงหาคม ของทุกปี
  4. การสำรวจความพึงพอใจของบุคลากรต่อสถาบัน ช่วงระยะเวลาดำเนินงาน  เดือน มกราคม - เมษายน ของทุกปี

 

Q : คำว่า ระบบและกลไก (System and Mechanism) ซึ่งถือเป็นคำที่ใช้ควบคู่กันและปรากฏในเกณฑ์ดารประเมินคุณภาพการดำเนินงานในทุกองค์ประกอบ มีความหมายมีต่างกันอย่างไร

A :

ระบบ หมายถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องทาอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลออกมาตามที่ต้องการขั้นตอนการปฏิบัติงานจะต้องปรากฏให้ทราบโดยทั่วกันไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการอื่นๆและข้อมูลป้อนกลับซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

กลไก หมายถึงสิ่งที่ทำให้ระบบมีการขับเคลื่อนหรือดำเนินอยู่ได้โดยมีการจัดสรรทรัพยากรมีการจัดองค์การหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลเป็นผู้ดำเนินงาน

 

Q :วงจรคุณภาพเดมมิ่ง (Deming Cycle : PDCA) หมายถึงอะไร

A :

วงจรคุณภาพเดมมิ่ง หมายถึงกระบวนการบริหารงานอย่างมีคุณภาพในการดำเนินงานควบคุมคุณภาพเป็นวงจรพัฒนาคุณภาพงานจากการเผยแพร่ของ Demingซึ่งประกอบด้วยวางแผน (Plan) ปฏิบัติ (Do) ตรวจสอบ (Check) ปรับปรุงแก้ไข (Action)

  1. การวางแผน (Plan) กำหนดแผนที่สามารถดำเนินการให้บรรลุตามปรัชญาและวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้มีการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพและเกณฑ์ตัดสินโดยพิจารณาทำแผนและเครื่องมือตัดสินที่สอดคล้องและตอบสนองการดำเนินงานที่มุ่งสู่คุณภาพที่พึงประสงค์เป็นสำคัญ
  2. การดำเนินงานตามแผน (Do) สร้างความตระหนักให้กับบุคลากรของสถานศึกษาให้ปฏิบัติภารกิจที่ได้วางแผนไว้โดยอาศัยการดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมที่กำหนดตามแผน ด้วยวิถีชีวิตและการทำงานอย่างมีคุณภาพ
  3. การตรวจสอบและประเมิน (Check) เป็นการกำกับติดตามประเมินการดาเนินงานตามแผนที่วางไว้สถานศึกษาจะต้องวิเคราะห์สภาพการดำเนินงานของตนเองในแต่ละช่วงการดำเนินงานและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและเกณฑ์ตัดสินเพื่อตัดสินว่าการดำเนินงานมีคุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่เพราะเหตุใด
  4. การนำผลการประเมินมาปรับปรุง (Action) เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและประเมินแล้วต้องนำผลการประเมินมาปรับปรุงโดยส่งข้อมูลย้อนกลับไปให้ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานในหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงผลงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไรและควรปรับปรุงต่อไปอย่างไร จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและดำเนินการแก้ไขตามระบบ
(อ้างอิง : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา. (๒๕๕๓). อภิธานศัพท์ การประกันคุณภาพการศึกษา (QA Glossary). พิมพ์ครั้งที่ ๑.)

 

Q :ความไม่แน่นอนคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการบริหารความเสี่ยง

A:

องค์กรที่ดำเนินงานในสภาพแวดล้อม เช่น โลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยี กฎระเบียบ การปรับโครงสร้างใหม่ การเปลี่ยนแปลงตลาด และการแข่งขันอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งความไม่แน่นอนนั้นเป็นไปได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส และอาจมีความเป็นไปได้ทั้งที่จะลดหรือเพิ่มคุณค่าให้กับองค์กร

สำหรับความไม่แน่นอนขององค์กรทั่วไปก็คือ การที่องค์กรไม่อาจจะบรรลุพันธกิจตามแผนงานหรือ    การบริหารงานที่กำหนดไว้ได้ การบริหารความเสี่ยง (Enterprise Risk Management - ERM)จึงเป็นกรอบความคิดทางการบริหาร เพื่อที่จะจัดการกับสภาวการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับองค์กร

 

Q : ปัญหาและความเสี่ยงต่างกันอย่างไร

A :

ปัญหา เป็นสิ่งหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและยังคงดำรงอยู่ เช่น ปัจจุบันองค์กรขาดแคลนกำลังคน คือ ปัญหา เพราะตอนนี้ทรัพยากรบุคคลไม่เพียงพอ เป็นต้น

ความเสี่ยง เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิด และมีโอกาสที่จะเกิดมากน้อยอย่างไร มีผลกระทบมากน้อยอย่างไร เช่น การเกิดไฟฟ้าดับขณะกำลังปฏิบัติงาน หรือ การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสถาบัน เป็นต้น

 

Q : ทำไมสถาบันต้อง บริหารความเสี่ยงและเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

A : เพื่อ…

  1. ช่วยให้สถาบันสามารถบริหารและจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. ช่วยให้สถาบันสามารถพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
  3. เป็นการสร้างฐานข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการบริหารและการปฏิบัติงานในสถาบัน
  4. ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพรวมของความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สำคัญได้ทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงที่มีเหตุทั้งจากปัจจัยภายในองค์กร และจากปัจจัยภายนอกองค์กร
  5. เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงาน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและทันเวลา
  6. เกี่ยวข้องกับทุกคนในสถาบัน  เนื่องจาก การวิเคราะห์ความเสี่ยงและแนวทางร่วมกันระหว่างผู้บริหาร (คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ) กับบุคลากร จะทำให้มีความเข้าใจตรงกัน เพราะการวิเคราะห์ความเสี่ยง ผู้บริหารและบุคลากรอาจมองต่างมุมกัน บนพื้นฐานความคิดที่ต่างกัน เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กรต่อไป

 

Q : COSO คืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการบริหารความเสี่ยง

A :  

          COSO:The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission  เป็นหน่วยงานที่ได้เผยแพร่วิธีการและกรอบแนวคิดของการควบคุมภายในขององค์กร และกำหนดคำนิยามและรูปแบบต่าง ๆ ในการจัดการกับความเสี่ยงไปใช้ได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษของปี ค.ศ. 1990 จนกระทั่งเป็นที่รู้จักและมีความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยได้กำหนดออกมาเป็น COSO ERM (COSO Enterprise Risk Management) โดยสถาบันได้นำแนวคิดตามมาตรฐานของ COSOมาใช้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมแนวทางการกำหนดนโยบายการบริหารงานการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยง ตามกระบวนการ 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การกำหนดวัตถุประสงค์(Objective Setting)
  2. การระบุความเสี่ยง(Event Identification)
  3. การประเมินผลความเสี่ยง(Risk Assessment)
  4. การตอบสนองความเสี่ยง(Risk Response)
  5. การควบคุมและติดตามประเมินผล(Control and Monitoring)

        ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมภายในองค์กร (Internal Environment) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร การกำหนดโครงการ/กิจกรรม การระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยง ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กร นโยบายผู้บริหาร แนวทางในการปฏิบัติงาน ควบคู่ไปกับข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication) ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ทั้งอดีตและปัจจุบัน 

Information

กองแผนงาน

อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ ชั้น 7

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

118 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น
เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์: 0 2727 3000 ต่อ 3350-3362

โทรสาร: 0 2374 8444
E-mail Address: This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.